ปัจจุบันนี้ คนเราเวลาทำธุรกิจก็ต้องมีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันไปตลอดเวลา หากรู้ไว้เป็นแนวทางเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ฝ่ายที่เข้ามาเพื่อคบคิดหาผลประโยชน์จากเราแล้วละก็ เราอาจจะแทบสิ้นเนื้อประดาตัวเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้วเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องฉ้อโกงกันสักหน่อยนะครับ
ความผิดว่าด้วยเรื่องฉ้อโกง มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ มาตรา 341 จนถึงมาตรา 348 โดยหลักใจความของฉ้อโกงนั้นอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 341 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นแล้วใจความสำคัญของฉ้อโกงต้องมีองค์ประกอบอยู่ทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน คือ
1. ต้องมีผู้หลอกลวง(ผู้กระทำการฉ้อโกง) และ ผู้ถูกหลอกลวง(ผู้เสียหาย)พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีคู่ความกันนั้นเอง
2. ผู้กระทำการฉ้อโกง ต้องมีการใช้อุบาย หลอกลวง หรือ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ (พูดง่าย ๆ ก็ ขี้จุ๊ เบเบ๊ โกหกทั้งเพ) หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. การหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ หมายความว่า ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกหลอกลวงเองโดยตรง หรือ เป็นบุคคลอื่นอีก ยอมมอบทรัพย์สิน สิ่งของที่มีอยู่นั้นให้ กับ ผู้กระทำการฉ้อโกง อาจจะเป็นเพราะ อยากรวย อยากมีผลประโยชน์ หรืออะไรก็ตาม ก็มักจะหลงคารม ของคนที่พูดเก่งๆ ไปจนได้ ทั้งๆที่จะได้จริงหรือเปล่านั้นก็ไม่แน่ใจ หรือ ยอมแม้กระทั้งทำลายเอกสารสิทธิต่างๆ อย่างพวก โฉนดที่ดิน นส.3ก. เป็นต้น
4. ขาดไม่ได้เลยกับ เจตนา ถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เพราะ กฎหมายอาญา จะผิดได้ เพราะต้องมีเจตนา นะจ๊ะ
เอ้า ! ไหนๆลองมาดูตัวอย่างกันสักนิดดีกว่า ว่าจะเป็นฉ้อโกงอย่างไร
เช่น นาย ก. เห็นว่า นาย ข. มีฐานะร่ำรวย จึงเข้ามาคุยโม้ว่า นาย ก. เป็นเจ้าของธุรกิจชื่อดังมีวัตถุประสงค์ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ อยากจะร่วมลงทุนร่วมกับนาย ข. ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจจำหน่ายข้าวส่งออก แต่นาย ก. มีอาชีพเป็นนายหน้าขายที่ดินเท่านั้น ซึ่งนาย ก. ได้รับข้อเท็จจริงมาว่านาย ข. ได้รับการติดต่อจาก มิสเตอร์ A ชาวอังกฤษเพื่อส่งออกข้าวนั้น แต่ว่ายังไม่ได้ติดต่อกับบริษัทนำส่งสินค้าใดๆเลย แต่นาย ก. เข้ามาติดต่อเสียก่อน โดยนาย ก. กล่าวอ้างว่า หากส่งกับตนนั้นจะลดราคากว่าครึ่งซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ หากนาย ข. ส่งข้าวกับบริษัทส่งออกสินค้าทั่วไป ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวน 4 ล้านบาท แต่หากทำธุรกิจกับนาย ก. จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2 ล้านบาท แต่ต้องวางเงินมัดจำการส่งของ 1 ล้านบาท และอีก 1 สัปดาห์นาย ก. จะให้ทางบริษัทตน มารับข้าว เพื่อส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ หากส่งเสร็จแล้วนาย ก. จะมารับเงินส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านบาท นาย ข. เห็นว่า ราคาส่งออกถูก และคิดดูแล้วหากส่งกับนาย ก. จะทำให้ตนได้กำไรสูง จึงยอมตามคำเสนอของนาย ก. และส่งมอบเงินมัดจำ 1 ล้านบาทแก่นาย ข. แต่เมื่อถึงเวลาอีก 1 สัปดาห์ตามกำหนด นาย ก. ก็ไม่มาตามสัญญาแต่อย่างใด ทำให้นาย ข. รู้ว่าตนถูกฉ้อโกง
จากตัวอย่างนี้ ทำให้รู้ว่า นาย ข. ถูกหลอกลวง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จของนาย ก. และ นาย ข. เองก็ยอมมอบเงินจำนวน 1 ล้านบาท โดยเห็นว่า จะได้กำไรสูง แต่ข้อเท็จจริงนั้น นาย ก. มีเจตนาต้องการเงินจำนวนหนึ่งของนาย ข. เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว นาย ข. รู้ว่าตนถูกหลอกแน่ๆ การฟ้องร้องคดีฉ้อโกงนั้น จึงมีอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการฉ้อโกง ดังนั้น นาย ข. จึงต้องแจ้งความต่อ เจ้าพนักงานตำรวจภายใน 3 เดือน นับจากวันที่นาย ข. รู้ว่าถูกหลอกตามวันที่นับรับสินค้าของนายก.นั้น
ทำไมอายุความฟ้องคดีฉ้อโกงต้องเป็น 3 เดือน ล่ะ นั่นก็เพราะ คดีฉ้อโกงเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 348 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั่นละจ๊ะ เว้นแต่การฉ้อโกงนั้น เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343 อันเป็นความผิดยอมความไม่ได้และด้วยเนื่องจากโทษจำคุกสูงสุดของมาตรา 343 คือ จำคุกไม่เกิน 7 ปี ดังนั้นจึงมีอายุความฟ้องร้องคือ 10 ปี
ดังนั้นแล้ว ท่านผู้อ่านจึงรู้เหตุแห่งการฉ้อโกงนั้น มักจะอาศัยความโลภหรือความอยากได้ อยากรวยของผู้ถูกกระทำนั่นเอง การใช้ชีวิตประจำวันในยุคสมัยนี้ มันก็ต้องอาศัยความรู้ทัน การคิดให้รอบคอบ ก่อนการลงมือตัดสินใจ เดี๋ยวจะโดยคนอื่นเขาว่า ฉลาดแต่ไม่เฉลียว แล้วจะเสียหน้ามากมาย จริงๆ |