|
|
ละเมิดอำนาจศาล! |
นับตั้งแต่มีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองเมื่อปี 2549-2551 ประชาชนทั้งหลายค่อยๆ รู้เรื่องเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลกันมากขึ้นเหตุเพราะปัญหาทางการเมืองส่วนหนึ่งที่มีการกระทำผิดต่อกฎหมาย ก็จะต้องมาให้ศาลช่วยแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ที่ผ่านมามีการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลไปหลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการยกขบวนมาประท้วงแล้วด่ากันที่บริเวณศาลยุติธรรม หรือการปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลปกครอง หรือจนกระทั่งครั้งล่าสุดมีการส่งมอบสินบนกันภายในอาคารที่ทำการของศาลฎีกา
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ผู้เขียนขออธิบาย ตามลำดับ ดังนี้
1.กฎหมายเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลทหาร)
กฎหมายเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาล กล่าวได้ว่าเป็นหลักสากลเป็นกฎหมายสากลทั่วไป ที่ศาลแต่ละประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นศาลในระบบกฎหมาย Common law (จารีตประเพณี)อย่าง อังกฤษ สหรัฐ หรือศาลในระบบ Civil Iaw (ลายลักษณ์อักษร) อย่างฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ต่างก็มีกฎหมายในลักษณะนี้
โดยมีวัตถุประสงค์ที่ว่า เมื่อศาลมีอำนาจหน้าที่ชี้ขาดหรือขจัดข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งหรือความเดือดร้อนให้แก่คู่ความ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการหรือเครื่องมือบางอย่างสำหรับให้อำนาจแก่ศาลในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีดำเนินไปตามความเที่ยงธรรมยุติธรรมและรวดเร็ว
อำนาจที่ให้นี้ยังรวมถึงอำนาจที่จะสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงคดีให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรอีกด้วย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 30) ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้เสียความยุติธรรมแก่ตัวความนั่นเอง
กล่าวอย่างง่ายๆ ได้ว่า เมื่อมอบกระบี่ให้แล้วก็ต้องให้อำนาจใช้กระบี่ด้วย มิฉะนั้น แล้วก็ไม่อาจที่จะรักษาหรือปกป้องความยุติธรรมในบ้านเมืองไว้ได้บางคนถึงกับพูดว่าขนาดมีกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลแล้ว คนก็ยังไม่เกรงกลัวต่อความผิด แล้วถ้าไม่ให้อำนาจแก่ศาลล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น ก็คงไม่ต้องมีศาลไว้พิจารณาคดีละกระมัง
นอกจากมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวแล้ว ศาลยุติธรรมก็ยังมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการว่าด้วยเรื่อง ละเมิดอำนาจศาลอีกด้วย โดยกล่าวไว้ในข้อ 5 ว่า "ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งจักต้องมิให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาล บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล พึงใช้ด้วยความ ระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ"
และยังมีคำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า
"บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้ยากสำหรับผู้พิพากษาบทหนึ่งได้แก่ บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาล เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็เปรียบเสมือนผงเข้าตาผู้พิพากษาเอง ถ้าหากผู้พิพากษาแยกเรื่องอารมณ์ออกจากงานในหน้าที่ไม่ได้ ก็อาจจะเกิดโทสจริตเข้าแทนที่และผลีผลามใช้อำนาจที่ตนมีอยู่อย่างเต็มที่โดยขาดการกลั่นกรองและใคร่ครวญอย่างสุขุม ความอยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เป็นคู่ความหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องทันที ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้พิพากษาละเว้นไม่ยอมใช้บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเสียเลยเมื่อปรากฏว่ามีกรณีล่วงละเมิดอำนาจศาล ก็หาเป็นการชอบไม่ เมื่อมีกรณีจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันตุลาการ ก็ต้องใช้บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี"
เนื่องจากเรื่องละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นเรื่อง "ผงเข้าตาผู้พิพากษาเอง" การใช้ดุลพินิจว่าอย่างไรสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีย่อมเป็นเรื่องยาก เพื่อละเว้นมิให้เป็นเรื่องลุแก่โทสะสมควรที่ผู้พิพากษาจะต้องปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชา และองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี อย่างสุขุมรอบคอบก่อนที่จะออกคำสั่งใดๆ ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลนี้" (ประมวลจริยธรรมข้า ราชการตุลาการสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2529 ข้อ 5 หน้า 15 ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ พ.ศ. 2544 ข้อ 4 (5))
ในความเป็นจริงหรือในทางปฏิบัติแล้ว ก่อนที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจ ผู้พิพากษาที่จะลงโทษนอกจากจะต้องฟังข้อเท็จจริงแห่งการละเมิดให้ครบถ้วน และปรึกษาองค์คณะตลอดจนปรึกษาผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็ยังจะต้องปรึกษาผู้พิพากษาเกือบหมดทุกคนทั้งศาลเลยทีเดียว
ฉะนั้น การจะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ผู้พิพากษาลำบากใจยิ่งกว่าการลงโทษในคดีปกติทั่วไปที่มีคู่ความเสียอีกเพราะการละเมิดอำนาจศาลคู่กรณีก็คือผู้พิพากษากับผู้กระทำละเมิดนั่นเอง (เท่ากับผู้พิพากษาเป็นโจทก์ ผู้ละเมิดเป็นจำเลยก็เป็นเรื่องแปลกดี)
โดยหลักในคดีอาญาทั่วๆ ไปจะมีพยานมาเบิกความ ทุกครั้งโจทก์มักจะซักถามพยานทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำที่ว่า "พยานเคยรู้จักจำเลย หรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนหรือไม่"
พยานก็มักจะเบิกความว่า "ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน หรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน"
ศาลก็มักจะอ้างเหตุผลนี้สนับสนุนเสมอเพื่อประกอบคำวินิจฉัยว่าเมื่อพยานไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน พยานก็ไม่น่าที่จะเบิกความใส่ร้ายปรักปรำจำเลยให้ได้รับความเสียหายหรือให้ต้องได้รับโทษน่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง
แต่สำหรับคดีละเมิดอำนาจศาลแล้ว แม้ศาลท่านที่จะลงโทษจะคิดอ้างเหตุผลนี้ขึ้นมาในใจแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาอ้างสนับสนุนหรือใช้เป็นเหตุผลประกอบเหมือนกับคดีทั่วๆ ไปได้
เมื่อเป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลแล้ว ศาลก็จำต้องลงโทษ ทั้งๆ ที่ศาลผู้ลงโทษนั้นก็ไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาก่อนแต่อย่างใดเลย
2.ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีอะไรบ้าง
2.1 ศาลยุติธรรม มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาตรา 30-33 บัญญัติให้อำนาจไว้ ซึ่งอาจแบ่งออกได้ 2 กรณีใหญ่ๆ คือ
(1) กรณีที่ศาลต้องออกข้อกำหนด มาตรา 30 ศาลต้องออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่จำเป็นเสียก่อน (ด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้) หากมีการฝ่าฝืนข้อกำหนด จึงจะสามารถใช้อำนาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้
ข้อกำหนดที่ว่านั้นต้องเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลและเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร
ข้อสังเกต : เฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้น ที่ศาลจะต้องออกข้อกำหนดส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดโดยสภาพนั้น ศาลไม่จำต้องออกข้อกำหนดก่อนแต่อย่างใด เมื่อพบเห็นผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษละเมิดอำนาจศาลได้ทันทีโดยมิพักต้องเตือน (ฎีกาที่ 3720/2528)
(2) กรณีที่ศาลไม่จำต้องออกข้อกำหนด ได้แก่ การกระทำการอย่างใดๆ ตามมาตรา 31 (1) ถึง (5) และการละเมิดอำนาจศาลของหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ตามมาตรา 32 (1) และ (2) หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้ทราบว่ามีกรณีใดบ้าง ผู้เขียนขอกล่าวโดยย่อ ดังนี้
มาตรา 31 (1) ถึง (5) ได้แก่ การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาแล้ว แต่ปรากฏว่า นำคดีมาฟ้องโดยตนรู้ว่าไม่มีมูลและเป็นความเท็จหรือรู้ว่ามีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารมาให้ แล้วจงใจหลีกเลี่ยงไม่รับ หรือตรวจเอกสารหรือสำนวนความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลหรือคู่ความขัดขืนคำสั่งศาลที่ให้มาศาลหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มาศาลเมื่อถูกศาลออกหมายเรียก
ส่วนกรณีของมาตรา 32 (1) และ (2) ได้แก่ ถ้าศาลได้มีคำสั่งห้ามโฆษณาซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใดๆ แห่งคดี หรือถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงซึ่งข้อความหรือความเห็นในระหว่างการพิจารณาคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน เหนือศาล เหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไปหากมีการฝ่าฝืน กฎหมายให้ถือว่า ผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
2.2 ศาลปกครอง มี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 64 บัญญัติไว้ว่า "นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ให้นำบทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม..."
กล่าวคือ นอกจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ให้นำ ป.วิ.แพ่ง อย่างเดียวกับศาลยุติธรรม มาใช้บังคับด้วย
2.3 ศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 6 วรรคสองบัญญัติว่า "วิธีพิจารณาใดซึ่งข้อกำหนดนี้มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อข้อกำหนดนี้"
ข้อ 15 "ในการพิจารณาคดี ให้ศาลมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี การให้บุคคลใดซึ่งฝ่าฝืนออกไปนอกสถานที่พิจารณาและให้กระทำการใดๆ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว รวมทั้งออกระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ"
ข้อ 18 "การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล ตลอดจนมารยาทของบุคคลเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของศาล"
หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล มาบังคับใช้อีกได้ด้วย
2.4 ศาลทหาร พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า "ศาลทหาร...มีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง"
3.โทษฐานละเมิดอำนาจศาล มีอะไรบ้าง
3.1 ศาลยุติธรรม ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด (ป.วิ.แพ่งมาตรา 33) ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล
หรือ (ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้น ให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใดๆ ก็ได้ ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกหรือปรับนั้น ให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
3.2 ศาลปกครอง เมื่อมีการละเมิดอำนาจศาล (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 64) ให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งลงโทษได้ดังนี้
(1) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
(2) ไล่ออกจากบริเวณศาล
(3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล พึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณีและหากเป็นการสั่งลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีข้อยกเว้น ที่จะไม่เอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ถ้าหากเข้าเหตุตามมาตรา 65 ที่ว่า "ผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ"
3.3 ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับบทลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลเอาไว้เป็นการเฉพาะในข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย แต่ก็ได้อุดช่องโหว่ของกฎหมายไว้แล้วในข้อ 6 วรรคสอง นั่นคือ ให้นำ ป.วิ.แพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เหมือนดังศาลยุติธรรมนั่นเอง
3.4 ศาลทหาร พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 13 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า "ศาลทหารมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง"
ข้อสังเกต : แต่ละศาล ล้วนแล้วแต่มีบทบัญญัติกำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ใช้แทนตามความเหมาะสม) เพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย และถ้าหากผู้ใดถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว ก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอำนาจศาลอีกต่างหากด้วย ทำผิดครั้งเดียว อาจผิดต่อกฎหมาย หลายบทหลายฉบับ และอาจถูกลงโทษหลายกระทงความผิดได้
และถ้าหากการละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาลอีกด้วยก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องนั้นอีกต่างหากต่อไป
4.กระบวนพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นกฎหมายพิเศษ ที่ให้อำนาจแก่ศาลค้นหาความจริงได้ โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องเหมือนคดีอาญาปกติทั่วไป ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานได้เองหากการละเมิดอำนาจศาลมีการกระทำต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดย่อมปรากฏชัดแจ้งให้ศาลเห็นอยู่แล้ว ศาลย่อมลงโทษได้ทันที โดยไม่ต้องมีการไต่สวน
ในกรณีที่การกระทำมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล ศาลต้องไต่สวนหาความจริงก่อนมีคำสั่ง ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องเปิดโอกาสให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหาหรือให้โอกาสตั้งทนายมาถามค้าน หรือไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลย และไม่มีรูปแบบการทำคำสั่ง
เพียงแต่ก่อนบันทึกคำพยาน ต้องให้พยานปฏิญาณหรือสาบานตนก่อนตามกฎหมาย (ฎีกาที่ 1159/2526, 1324/2539) การอุทธรณ์หรือฎีกา เฉพาะผู้ที่ถูกลงโทษหรือพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา (ฎีกาที่ 1316/2519) และอุทธรณ์ฎีกาได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
แต่ถ้าหากเหตุละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุดแล้ว ก็ต้องถือว่าคดีถึงที่สุด ไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก
5.ตัวอย่าง คำสั่งศาล และคำพิพากษาศาลฎีกา
(ดูตาราง)
ละเมิดอำนาจศาล
1.การกล่าวอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษา เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาลแม้จะกระทำนอกบริเวณศาลแต่ผลที่เกิดขึ้นนั้น มุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวน
พิจารณาของศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล (ฎีกาที่ 6444/2540)
2.นำยาบ้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ต้องหาในศาล (ฎีกาที่ 5615/2543)
3.ศาลออกข้อกำหนดมิให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใดๆ ในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาคดีอยู่ แล้วโจทก์ยังฝ่าฝืน (ฎีกาที่ 2271/2537)
4.พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณศาล (ฎีกาที่ 5100/2543)
5.ทะเลาะวิวาทชกต่อยกันหรือใช้รองเท้าทำร้ายคู่ความในบริเวณศาล
6.เขียนคำคู่ความที่มีข้อความเสียดสีหรือก้าวร้าวศาล แล้วนำไปยื่นต่อศาล (ฎีกาที่ 235/2514)
7.นายประกันเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ขอประกันไป (ฎีกาที่ 2916/2522)
8.ลงข้อความและบทความในหนังสือพิมพ์เป็นเชิงเปรียบเปรยให้เข้าใจว่าผู้พิพากษาสั่งเลื่อนคดีโดยไม่ยุติธรรม (ฎีกาที่ 2611/2523)
9.จำเลยรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อ ส.ผู้ขอประกันในคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว แล้วให้นำมายื่นต่อศาล (ฎีกาที่ 1159/2526) ฯลฯ
ไม่ละเมิดอำนาจศาล
1.คำร้องของจำเลย ขอให้เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งทำการพิจารณาพิพากษา แม้จะมีข้อความเชิงตำหนิผู้พิพากษา อาจทำให้เข้าใจในทางไม่ดีงาม แต่เป็นการอ้างเพื่อให้มูลข้ออ้างมีน้ำหนักพอรับฟัง ยังไม่พฤติการณ์อื่นอีกยังไม่พอฟังว่าจำเลยละเมิดอำนาจศาล (ฎีกาที่ 1316/2519)
2.ตัวความมิได้อยู่ร่วมรู้เห็นในห้องพิจารณาด้วย ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าทนายได้แถลงต่อศาลว่าอย่างไร จะถือว่าตัวความแถลงเท็จผิดละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ (ฎีกาที่ 2695-96/2527)
3.ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ทราบว่าหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินปลอม แล้วนำไปยื่นต่อศาลขาดเจตนา ไม่ผิดละเมิดอำนาจศาล (ฎีกาที่ 4366/2545) ฯลฯ
สรุป : ละเมิดอำนาจศาล เป็นกฎหมายหรือโทษที่ศาลทั้งหลายไม่อยากแตะ
ตลอดชีวิตผู้พิพากษาส่วนใหญ่แล้วอาจกล่าวได้ว่าร้อยละ 95 แทบจะไม่เคยได้ใช้อำนาจนี้เลยอาจเป็นเพราะการเอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเปรียบเสมือนผงเข้าตาตัวเอง (ทำนองชอบช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ แต่เมื่อทุกข์เกิดกับตนเองแล้ว ลำบากใจที่จะแก้ไข)
และที่สำคัญบรรพตุลาการหรือผู้พิพากษาอาวุโสทั้งหลาย ต่างก็ต้องคอยตักเตือนกันมาโดยตลอด ให้ศาลพึงใช้อำนาจนี้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ ไม่มีผู้พิพากษาหรือตุลาการท่านใดหรอก ที่อยากจะใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ถ้าไม่สุดสุด จริงๆ หรือเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
เช่นยืนด่าศาล หรือยื่นส่งยาบ้าแก่กัน ต่อหน้าต่อตาผู้พิพากษาที่กำลังพิจารณาคดีอยู่ หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล โดยไม่สนใจไยดีเลยว่าผิดต่อกฎหมายหรือคนอื่นเขาจะต้องเดือดร้อนเสียหายด้วยหรือไม่ อย่างไร ไม่สน เป็นต้น ไม่เคารพต่อผู้ตัดสินไม่เป็นไร แต่ต้องเคารพต่อกติกา กฎหมายบ้านเมือง
ดังบาลีว่า "กัมมุนา วัตตะตี โลโก" สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์ © 2018 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 7
349 หมู่ 3 ถนนเลียบคลองชลประทาน ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180
|